Breaking News

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2025 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองทิศทางเศรษฐกิจไทย 2568 เสี่ยงหลายปัจจัยลบ ทำภาคการผลิตหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 คาดแรงส่งจากการท่องเที่ยวช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แบบจำกัด ขณะที่ ยังคงประมาณการจีดีพีปี 2568 เติบโตที่ 2.4% *** KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2025 มีแนวโน้มโตได้ช้าลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 2.3% จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาได้ต่ำกว่าที่คาด ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลงไปต่ำสุดที่ 1.25% ในปี 2026  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเศรษฐกิจไทยปี 2567 โต 2.5% ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 2.6% เล็กน้อย GDP ไตรมาส 4 ขยายตัวที่ 3.2% YoY น้อยกว่าที่คาด หลักๆ เป็นผลจากสินค้าคงคลังที่หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามากกว่าที่คาด จากความความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและการส่งออกที่ต่ำกว่าที่ประเมิน โดยแม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดีในหลายสินค้า แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังแทบจะไม่ขยายตัว ขณะที่การผลิตภาคเกษตรขยายตัวต่ำ ทั้งเป็นผลจากการปรับฐานในไตรมาส 4/2566 ให้สูงขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้อัตราการขยายตัวในไตรมาส 4/2567 ต่ำกว่าที่คาดไว้  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยการส่งออกไทยในเดือน ธ.ค. 2567 ขยายตัว 8.7%YoY ส่งผลให้ทั้งปีขยายตัวได้ 5.4% โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์ จากการเร่งส่งออกสินค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ • ในปี 2568 การส่งออกไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าปี 2567 ที่ 2.5% โดยครึ่งปีแรกยังมีแรงหนุนจากการเร่งนำเข้าสินค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ธ.ค. 2567 เร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.23% YoY สูงสุดในรอบ 7 เดือน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ธ.ค. 2567 อยู่ที่ 0.79% YoY โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากราคาพลังงานอย่างค่าไฟฟ้าและราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ปรับสูงขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในเดือน ธ.ค. 2566 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของทางภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มบางรายการปรับตัวสูงขึ้น

คปภ. ร่วมกับภาคอุตฯส่งเสริม'วันครอบครัว' ออก 2 ประกันภัยไมโครอินชัวรันส์รองรับ

คปภ. ร่วมกับภาคอุตฯส่งเสริม'วันครอบครัว' ออก 2 ประกันภัยไมโครอินชัวรันส์รองรับ
1
เขียนโดย intrend online 2025-04-09

ร่วมรณรงค์ความปลอดภัยและการประกันภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมออก 2 ประกันภัยไมโครอินชัวรันส์รองรับ

​นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการ “กิจกรรมรณรงค์ความปลอดภัยการเดินทางและการส่งเสริมการประกันภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2568” เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เล็งเห็นความสำคัญของการเดินทางในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว และยังคงเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง จึงได้พัฒนารูปแบบกิจกรรมเพื่อมุ่งเน้นให้การประกันภัยสามารถเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริมการประกันภัยรถยนต์ และการประกันภัยอุบัติเหตุการเดินทาง โดยในปีนี้ดำเนินการภายใต้แนวคิด “สงกรานต์ สร้างสุข ส่งต่อความห่วงใย ส่งเสริมวัฒนธรรมประกันภัย” ซึ่งคำว่า “สร้างสุข” ในที่นี้ คือ การเสริมสร้างสุขภาวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการเชิงป้องกัน (หรือ Preventive Measures) ที่สำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงและความสูญเสียต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้เลือกพื้นที่ย่านเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร บริเวณปากคลองตลาด ซึ่งเป็นย่านการค้าที่มีชื่อเสียง และเป็นตลาดขายส่งสินค้าประเภทดอกไม้ที่เก่าแก่ที่สุดและมีพื้นที่มากที่สุด ที่เป็นจุดเชื่อมต่อของการคมนาคมทั้งรถประจำทาง รถไฟฟ้าใต้ดิน และเรือโดยสาร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งเป็นชุมชนที่มีกิจกรรมรองรับสำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มคนในทุกช่วงวัย ซึ่งตรงกับวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และวันครอบครัว (วันที่ 13 และ 14 เมษายน) ที่สำนักงาน คปภ. เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมการประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและผู้สูงอายุ ได้แก่ การประกันชีวิตและการประกันสุขภาพ เนื่องจากประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งมีจำนวนผู้สูงอายุจำนวนมากกว่า 13.6 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 20.94 ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุไม่ได้จำกัดเพียงการเตรียมการสำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมการสำหรับสมาชิกในครอบครัว รวมถึงประชาชนวัยทำงานที่ในอนาคตข้างหน้าจะเปลี่ยนสถานะเป็นผู้สูงอายุเช่นกัน

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมหลัก คือ

​​1) กิจกรรมการเสริมสร้างสุขภาวะด้านร่างกายและจิตใจ ผ่านการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช บรรยายในหัวข้อ “Good Health towards Wellbeing สุขภาพดี จุดเริ่มต้นสู่การเสริมสร้างสุขภาวะ”

​​2) กิจกรรมการเสริมสร้างสุขภาวะด้านการเงินและการประกันภัย โดยบริการให้คำปรึกษาการวางแผนทางการเงินและการประกันภัย จากสมาคมและภาคอุตสาหกรรมประกันภัยรวมมากกว่า 20 แห่ง รวมทั้งบริการตรวจข้อมูลเครดิตแห่งชาติโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร

​​3) กิจกรรมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้า คปภ. ทั้งส่วนกลางและสำนักงานในภูมิภาคในช่วง 7 วันอันตราย (11 - 17 เมษายน 2568) ในฐานะเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายศูนย์ความปลอดภัยทางถนน กระทรวงมหาดไทย และในการส่งเสริมวัฒนธรรมประกันภัย

​“สำนักงาน คปภ. ยังคงร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และเครือข่ายพันธมิตร ภาคธุรกิจอื่นๆ พัฒนารูปแบบและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยให้ตอบโจทย์ประชาชน เพื่อส่งมอบเป็นของขวัญวันปีใหม่ไทย จำนวน 2 กรมธรรม์ ได้แก่ กรมธรรม์ประกันภัยสุขใจสงกรานต์ (ไมโครอินชัวรันส์) ซึ่งให้ความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิตสูงสุดถึง 100,000 บาท และกรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์สุขใจบ้านปลอดภัย (ไมโครอินชัวรันส์) ซึ่งให้ความคุ้มครองสูงสุดถึง 30,000 บาท ในอัตราเบี้ยประกันภัยที่เข้าถึงได้ง่ายเพียง 10 บาท ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจสามารถซื้อประกันภัยได้ที่บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ หรือเลือกรับสิทธิ์ดังกล่าวผ่านพันธมิตรธุรกิจชั้นนำหลาย ๆ แห่ง เช่น ธนาคาร ผู้ให้บริการค้าปลีก ผู้ให้บริการระบบโทรคมนาคม และสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย